3-9.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 1

ก่อนปี 2002 นักการทูตจากประเทศต่างๆประจำสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้เอกสิทธิ์คุ้มครองเวลาโดนใบสั่งขณะปฎิบัติภารกิจในสหรัฐอเมริกา บรรดานักการทูตผู้ทรงเกียรติล้วนแต่ยินดีกับสิทธิ์พิเศษ โดยทำผิดกฏหมายจราจรอันเข้มงวดของสหรัฐฯ กันถล่มทลาย ตั้งแต่จอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถบังหัวจ่ายน้ำดับเพลิง แถมยังไม่สนใจมาจ่ายค่าปรับอีกด้วย ที่น่าสนใจคือ นักการทูตจากประเทศต่างๆ ทำผิดไม่เท่ากัน นักการทูตจากประเทศที่มีดัชนีคอร์รัปชั่นต่ำ เช่น นอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ไม่เคยค้างค่าปรับเลย(คือ ทำผิดน้อย และเมื่อทำผิดกฏหมายก็จ่ายค่าปรับกันแต่โดยดี) ตรงกันข้ามนักการทูตจากขาติที่มีดัชนีคอร์รัปชั่นสูงมักจะทำผิดกฏหมายกันเป็นล่ำเป็นสัน แถมยังไม่ยอมจ่ายค่าปรับอีกด้วย ทั้งๆที่นักการทูตจากชาติต่างๆ ได้รับสิทธิ์เท่าๆกัน มี"โอกาส"ในการทำผิดเท่าๆ กัน และโดยพื้นฐานแล้ว นักการทูตน่าจะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี มีสถานะทางสังคมสูง แต่ทำไมผลถึงต่างกันฟ้ากับเหวเช่นนี้
ภาพประกอบจาก internet
นักวิชาการก็สนใจพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์เหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากการฉ้อโกงหรือทุจริตคอร์รัปชั่นโดยคนที่เหมือนเราๆ นั้น มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมสูงกว่าความเสียหายจากอาชญากรรม การปล้นชิงที่เกิดจากบรรดาอาชญากรมืออาชีพทั้งโลกรวมกันเสียอีก

จากการศึกษาโดยเปิดโอกาสให้มีการโกงได้โดยเสรี ไม่มีการตรวจสอบใดๆทั้งสิ้น ได้นั้นพบสิ่งที่น่าสนใจคือ คนเรามักจะ"ฉวยโอกาส"โกงกันคนละนิด คนละหน่อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีโอกาสโกงเลย ไม่ว่าโอกาสในการโกงจะมีมากแค่ไหนก็ตาม คนส่วนใหญ่จะไม่โกงแบบละโมบ หรือกอบโกยให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ไม่มีใครเห็นหรือตรวจสอบได้ นักวิชาการสรุปว่า เมื่อไม่มีบรรทัดฐานทางสังคม หรือทางกฏหมายในการป้องกันตรวจสอบการโกง คนเราจะใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของตนเอง คือคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆมักจะ"แอบฉวยโอกาส"โกงกันนิดหน่อย ตราบเท่าที่เรายังรู้สึก"ยอมรับได้หรือสบายใจ" ซึ่งเป็นตัวจำกัดขอบเขตของการโกงของเรา ไม่ให้มากจนเราเองรู้สึก"ไม่สบายใจ" หรือแม้แต่ถึงขั้นไม่โกงเลย

คำตอบของคำถามแรกจึงอยู่ที่มาตราฐานทางจริยธรรมของนักการทูตแต่ละชาติ มาตราฐานทางจริยธรรมของสังคม กลุ่มอาชีพ จิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสาธารณะของคนในชาตินั้นๆ หรือสรุปง่ายๆ คือ คนดีๆ อย่างเราจะไม่ซื่อสัตย์มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ คำว่ารวยแล้วไม่โกง จึงไม่เป็นจริง คำว่าเงินเดือนสูงแล้วไม่โกง จึงไม่เป็นจริงเช่นกัน ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ตั้งแต่เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกร้องเงินใต้โต๊ะ เจ้าของธุรกิจที่แจ้งยอดลดหย่อนภาษีเกินจริง พนักงานขายที่เอาใบเสร็จส่วนตัวไปเบิกเป็นค่าใช้จ่ายกับบริษัท ไปจนถึงองค์กรธุรกิจที่ปรับแต่งบัญชี หรือนักการเมืองที่ทำโครงการแพงๆเพื่อชักส่วนแบ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม อยู่ที่ว่าบรรทัดฐานทางสังคมนั้นๆ ยอมรับได้แค่ไหน ซึ่งถ้าหากว่าคนที่มาจากสังคมที่นิยมการโกง หรือไม่คิดว่าการโกงเป็นเรื่องผิด ใครๆก็โกง คนพวกนี้ก็จะไม่ต่างจากนักการทูตที่มาจากประเทศที่มีดัชนีการคอร์รัปชั่นสูง คือจะโกงมากเท่าที่มากได้ เนื่องจากมาตราฐานทางจริยธรรมที่ต่ำ เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติที่ทำกันในสังคม ซึ่งเราน่าจะได้คำตอบแล้วนะครับว่า เราอยากให้คนรุ่นต่อๆไป อยู่ในสังคมแบบไหน
3-9.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 1 3-9.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 1 Reviewed by aphidet on 10:46 AM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.