3-10.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 2


ในแต่ละวันมีคนนับล้านๆ ต้องอดอยาก ทุกข์ทรมาน ล้มตาย จากภัยสงคราม ภัยพิบัติ และโรคภัยไข้เจ็บ เหตุการณ์ผู้อพยพในที่ต่างๆ ของโลก รวมถึงที่เกิดขึ้นใกล้ประเทศของเรา ทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกันในสังคม ตั้งแต่ เราควรเป็นผู้เปี่ยมเมตตา หรือใจแข็งแห้งแล้ง ถึงแม้พวกเราส่วนใหญ่ยินดีและเต็มใจที่จะช่วยเหลือคนที่กำลังเดือนร้อนลำบาก แต่เมื่อเป็นโศกนาฏกรรมบางเหตุการณ์ เรากลับตอบสนองแตกต่างออกไป ดังที่โจเซฟ สตาลิน เคยกล่าวไว้ว่า "ความตายของมนุษย์คนหนึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรม แต่ความตายของคนนับล้านเป็นเพียงตัวเลขสถิติ"

ภาพประกอบจาก internet
ทำไมเราถึงมีความรู้สึกร่วมกับชะตากรรมอันน่าสงสาร จนยอมช่วยเหลือคนไม่กี่คน แต่พอเป็นโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่ ที่มีคนจำนวนมาก บาดเจ็บล้มตาย เรากลับไม่รู้สึกร่วมมากนัก เรากลับให้ความช่วยเหลือน้อยกว่า ไปจนถึงนิ่งเฉย ทั้งๆที่ถ้าคิดตามหลักเหตุผลแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ น่าจะมีแรงผลักดันให้ผู้คนยื่นมือเข้าช่วยเหลือ มากกว่าเป็นร้อยเท่าพันทวี

นักวิชาการตั้งคำถาม และศึกษาว่าอะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่น่าสงสัยดังกล่าว ผลจากการทดลองพบว่า คนเรายินดีที่จะสละ เงิน แรงงาน และเวลาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เราพบต่อหน้าต่อตา หรือร่วมรับรู้ได้ แต่กลับนิ่งเฉยเมื่อจำนวนผู้เดือนร้อนถูกเสนอเป็นเพียงตัวเลขทางสถิติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแรงผลักดันทางจิตวิทยาที่มีผลต่ออารมณ์ของเรา เช่นความใกล้ชิดระหว่างเรากับผู้ประสบภัย เราช่วยเหลือเพื่อน คนรู้จัก เพื่อนร่วมชาติ มากกว่า"คนอื่น"ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งความรู้สึกร่วมของเหตุการณ์นั้น เราเห็นใจผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ อย่างซึนามิ หรือแผ่นดินไหวที่ทำลายชีวิตและบ้านเรือน ได้มากกว่าการอพยพลี้ภัยจากสงครามที่เราไม่เข้าใจว่า ทำไปทำไม เมื่อรวมกับความรุ้สึกที่ว่าเรามีกำลังช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน หรือช่วยไปแล้วจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คนเรามีแนวโน้มที่จะละเลยผู้อพยพอันเกิดจากภัยสงคราม ภัยการเมือง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังของเรา ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการกระทำของเรา ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนที่แห้งแล้งน้ำใจแต่อย่างไร

ถ้าเราลองสังเกตุดีๆ จะพบว่าองค์กรการกุศลต่างๆ พยายามเสนอข้อมูล ในแนวชะตากรรมของผู้คน ชีวิตของเด็กที่กำลังตกตระกำลำบาก เพื่อกระตุ้นความรู้สึกให้ช่วยเหลือ เพิ่มยอดการบริจาคมากกว่าแค่นำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลขแบบทั่วๆ ไป ลองดูมูลนิธิต่างๆ รอบตัวเราซิครับ มีมูลนิธิไหนบ้าง ที่ใช้วิธีนำเสนอเรื่องราวของคนๆนึง หรือเด็กคนนึงที่มีช่วงเวลาอันยากลำบาก เพื่อให้เราเกิดความรู้สึกร่วมจนนำไปสู่ความยินดีช่วยเหลือ

จะว่าไปแล้ว เทคนิคการนำเสนอโดยการยกตัวอย่างหรือแม้แต่"สร้าง"เรื่องราวเพื่อให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับตัวเรา ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมจนช่วยพลักดันให้เราตัดสินใจทำ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ตัดสินใจซื้อสินค้า หรือแม้แต่เข้าร่วมกลุ่มลัทธิศาสนา ล้วนเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่เราเองที่ต้องใช้วิจารณญาณกันว่าอันไหนจริง อันไหนแต่งเติม หรืออันไหนโม้จนเกินจริง
3-10.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 2 3-10.0 BEHAVIORAL ECONOMICS: Good Guys, Bad Guys ตอนที่ 2 Reviewed by aphidet on 7:57 AM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.