14.0 Could you spare me a Bitcoin?

เป็นเวลากว่า 2,000 ปีที่มนุษย์เราใช้"สิ่งของ"เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและแรงงาน ตั้งแต่เปลือกหอยหายาก หินสีสวยงามไปจนถึงโลหะมีค่า แม่บ้านสมัยก่อนคงต้องแข็งแรงมากแน่ๆ เพราะจะซื้อกระเป๋าหลุยส์ฯซักใบ ก็ต้องแบกถุงเหรียญทองไปซื้อหามา แต่ปัจจุบันการทำธุรกรรมเหล่านี้ ทำผ่านระบบอิเล็คทรอนิคไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหมดแล้ว

ภาพประกอบจาก internet
ธนบัตรที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เกิดจากความพยายามเพื่อเพิ่มความสะดวกในการค้าขาย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนระหว่างโลหะมีค่ากับกระดาษที่เขียนมูลค่ากำกับไว้ ในอดีตธนาคารบางแห่งในยุโรปและอเมริกาพิมพ์ธนบัตรของตนเองเพื่อใช้ในการค้าขาย จนกระทั้งเมื่อไม่ถึง 200 ปีมานี้ ที่รัฐบาลกลางเข้ามาควบคุมและออกธนบัตรเอง เพื่อเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและการค้า และทำให้เกิดระบบธนาคารกลางขึ้นมา โดยที่รัฐบาลของแต่ละประเทศมีบทบาทหน้าที่ในการรับรองและค้ำประกันสกุลเงินของตนเอง

แล้วยังมี สกุลเงินอื่นๆอยู่บ้างไหม... ลองดูแต้มสะสมในบัตรเครดิต ไมล์สะสมสายการบิน คะแนนสะสมจากการช็อปปิ้งดูสิ หรือหลายคนที่เล่นเกมส์แล้วต้องสะสมเงินในเกมส์เพื่อซื้อหรืออัพเกรดไอเท็ม ซึ่งหลายเกมส์ให้ผู้เล่นเอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินในเกมส์ได้ เงินอิเลคโทรนิคหรือแต้มที่เราสะสมในโลกออนไลน์เหล่านี้ สามารถแลกกลับมาเป็นของใช้ ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ที่มีมูลค่าจริงๆได้ จึงไม่ต่างอะไรกับเงินสกุลหนึ่งที่บริษัทต่างๆให้การรับรองมูลค่า ไม่ต่างจากเงินสกุลต่างๆที่มีรัฐบาลรับรอง ปัจจุบันแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจโลกที่ใช้เงินสดในการทำธุรกรรมลดน้อยลงเรื่อยๆ การโอนเงิน การชำระค่าสินค้าและบริการต้องทำผ่านผู้ให้บริการอย่างธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิต ที่มีขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

Bitcoin เป็น digital currency ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการสกุลเงินกลางเพื่อใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่ขึ้นกับอืทธิพลทางการเมืองของรัฐบาลใดๆ มูลค่าเงินขึ้นกับการยอมรับของผู้ใช้ มีความปลอดภัยสูงจากการเข้ารหัสและตรวจสอบกระทบยอดในทางบัญชีแบบ real time ซึ่งอ้างอิงจากพื้นฐานของเทคโนโลยีที่เรียกว่า blockchain ทำให้มันสามารถเปลี่ยนถ่ายย้ายโอนได้สะดวกและรวดเร็ว มีต้นทุนในการโอนต่ำ แต่ Bitcoin ต่างจากเงินในสกุลอื่นๆ คือไม่ได้ออกโดยรัฐบาลใดๆ ไม่มีทองคำมาค้ำประกันการออก ไม่มีเหรียญหรือธนบัตรตัวเป็นๆ แต่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย(อย่างไม่เป็นทางการ) จนถึงว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์ค ออก Bitcoin index, NYXBT มีกระทั่ง รหัสสกุลเงินตามมาตราฐานสากลเป็นของตนเอง (อย่างไม่เป็นทางการอีกนั่นแหละ) XBT คือพี่ขอจองไว้ก่อนว่างั้นเถอะ

ภาพประกอบจาก internet
แต่จากหลักการของ Bitcoin ที่ต้องการให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ในปัจจุบันการใช้ Bitcoin ไม่ต้องผ่านกระบวนการระบุตัวตน ผู้ใช้ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร การโอนเงินและชำระเงินระหว่างกันทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว จากที่ไหนก็ได้ในโลกที่มี internet และไม่มีคนกลางที่คอยตรวจสอบและเก็บค่าธรรมเนียม จึงเป็นสาเหตุหลักที่หน่วยงานกำกับดูแลและผู้รักษากฏหมายในทุกระดับ ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก Bitcoin กลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจใต้ดินที่ผิดกฏหมายต่างๆ ใช้ทำธุรกรรมและฟอกเงิน จนถึงขนาดว่าเกิดตลาดซื้อขายใต้ดินทางอินเตอร์เนต สำหรับการค้าผิดกฏหมายเหล่านี้ แต่โดนไล่ปิดไปแล้ว หรือที่ถูกต้องคือ มันลงใต้ดินลึกลงไปเรื่อยๆ ให้พ้นจากกฏหมายมากกว่า ประเทศไทยของเราก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประกาศให้การใช้ Bitcoin นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และในปัจจุบันรัสเซียเพิ่งจะเพิ่มโทษจำคุกคนที่ใช้ Bitcoin สูงสุดถึง 7 ปี...อ้าว!

ในขณะที่หลายประเทศเห็นว่า Bitcoin นั้นสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้ มันจึงมีสภาพเสมือนเงินสกุลหนึ่ง ถึงแม้ว่ายังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในทางกฏหมายก็ตาม เหตุเพราะการประกาศให้ Bitcoin เป็นสิ่งผิดกฏหมายนั้นทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะ digital currency อื่นๆ ไม่ว่าจะแต้มสะสมทั้งหลาย หรือเงินในเกมส์ก็อาจโดนไปด้วย ในขณะที่มีธุรกิจใหญ่น้อย หลายแห่งในยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศรับการชำระเงินเป็น Bitcoin ปัจจุบันการใช้งาน Bitcoin ทั่วโลกมีกว่า 106,000 ธุรกรรมต่อวัน มีมูลค่าโดยรวมเทียบเท่าเงินดอลล่าร์สหรัฐกว่า $1.2 หมื่นล้านเหรียญ ในขณะที่เงินดอลล่าร์มีหมุนเวียนในระบบกว่า $1.2 ล้านล้านเหรียญ

ถึงแม้ว่า Bitcoin เองยังมีประเด็นถกเถึยงกันทั้งในแง่เทคโนโลยีพื้นฐาน แง่กฏหมายและบทบาทของมันในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ในปี 2015 สถาบันการเงินขนาดใหญ่ อย่าง Visa, Goldman Sachs, Citi และอื่นๆ  ร่วมลงทุนในเทคโนโลยี blockchain ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Bitcoin เป็นเงินรวมกว่า $488 ล้านเหรียญ รวมถึงการเข้าร่วมทดสอบการใช้งานของสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ทำให้คาดกันว่าในปี 2016 เป็นปีที่ Bitcoin เริ่มเข้าสู่กระแสหลัก โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ


14.0 Could you spare me a Bitcoin? 14.0 Could you spare me a Bitcoin? Reviewed by aphidet on 8:54 AM Rating: 5

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับสาระดีๆค่ะ

    ReplyDelete

Powered by Blogger.