13.0 I, Robot and I'm Your Financial Adviser 3

ในปัจจุบัน อย่างเราๆ หากต้องการบริหารการลงทุนของเราเอง มีทางเลือกอยู่สองอย่าง คือ
1. ลงมือทำเอง เลือกหุ้น พันธบัตร หรือกองทุนด้วยตัวเอง ต้องศีกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง หรือ 
2. ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาบริหารให้ (ในเมืองไทย เรียกว่า private banking) ซึ่งการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหารให้ แน่นอนว่า มีค่าธรรมเนียมที่สูงทีเดียว ซึ่งสำหรับคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้มีเงินมากมายอะไรนัก ถือเป็นการลงทุนที่ดูจะสูงไปหน่อย อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มักไม่รับบริหารให้กับลูกค้ารายเล็กรายน้อยอย่างเราๆ (ไม่ใช้เค้าหยิ่งนะ เราไม่มีตังค์จ้างเอง)

จึงเกิดกลุ่มของ fintech ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบริหารการเงินการลงทุน โดยเน้นลูกค้ารายย่อย ที่ไม่มีความต้องการในการลงทุนที่ซับซ้อนนัก และไม่ประสงค์จ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมาก มีชื่อเล่นๆ ในแวดวงว่า robo advisors หรือ หุ่นยนต์ที่ปรึกษา(การลงทุน) การใช้งานก็ไม่ยุ่งยากอะไร แค่ตอบคำถามเพื่อประเมินความเสี่ยงในการลงทุนที่เรายอมรับได้ เลือกสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้น และพันธบัตรเพื่อกระจายความเสี่ยง ที่เหลือก็ปล่อยให้ robo advisor ดำเนินการให้ โดยผู้ให้บริการแต่ละรายมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน เช่น การวางแผนภาษี โบรคเกอร์ซื้อขายหุ้น เป็นต้น ทำให้การลงทุนของบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ สะดวกง่ายดาย ใครๆ ก็สามารถใช้บริการได้ และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแพงๆ และ ทำให้การลงทุนมีสีสรร เป็นเรื่องน่าสนุก เหมือนเล่นเกมส์สะสมไอเท็ม(เงิน) ทำให้ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะคนชั้นกลางอย่างเราๆ สามารถเข้าถึงบริการให้คำแนะนำทางการเงิน และการบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคลได้ 
ภาพประกอบจาก www.biblemoneymatters.com

แน่นอนว่าเบื้องหลังโปรแกรม หรืออัลกอริทึ่มที่ช่วยลูกค้าบริหารการลงทุนเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญตัวเป็นๆ จากหลากหลายสายงาน เช่นเศรษฐศาสตร์ การเงินและการลงทุน รวมผู้ถือใบอนุญาติผู้แนะนำการลงทุน นอกเหนือไปจากผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ที่ช่วยกันคิดค้น robo advisors ขึ้นมา อีกทั้งผู้ให้บริการยังอ้างอิงรูปแบบการบริหารการลงทุนที่ใช้กันกว้างขวางอย่าง Modern Portfolio Theory (MPT) และ Effective Market Hypothesis (EMH) ซึ่งจะว่าไปก็เป็นทั้งข้อดีและขัอจำกัด ในแง่ข้อดีคือ เรามั่นใจได้ว่า ผู้ให้บริการใช้วิธีการที่เป็นมาตราฐานมาบริหารการลงทุนของเรา แต่ข้อจำกัดสำคัญคือ ผลตอบแทนการลงทุนที่ได้จาก robo advisors แต่ละรายแทบไม่แตกต่างกัน ไม่ดีกว่าหรืออาจแย่กว่าบริการที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญตัวเป็นๆ ซึ่งก็ดูจะเหมาะกับกลุ่มลูกค้าอยู่นะ (ถามจริงเถอะ ที่อ่านๆ อยู่นี่ มีกี่คนที่รู้จัก/จำได้/ใช้ MPT กับ EMH กันบ้าง)

ในปัจจุบัน robo advisors ยังถือว่าเป็นกลุ่ม fintech ที่ค่อนข้างใหม่ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Asset Under Management หรือ AUM) เกิน 1 พันล้านเหรียญ แต่โดยรวมแล้วผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร  มากกว่า 1.5 หมื่นล้านและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์และจัดการกองทุนขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐ เช่น Fidelity, Vanguard, BlackRock และ Schwab สนใจให้บริการลูกค้าของตนโดยใช้ robo advisors ควบคู่ไปกับการบริการในแบบรูปแบบเดิม เพื่อเป็นทางเลือกและขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ที่เรียกว่า automated investment service หรือที่มีชื่อเล่นใหม่(อีกแล้ว)ว่า cyborg advisors (มนุษย์ผสมเครื่องจักร)
ภาพประกอบจากภาพยนต์ ex mahina
อย่างไรก็ดี กล่าวกันว่า การวางแผนและการแก้ปัญหาทางการเงินที่มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับอารมณ์ความรู้สึก ความฝัน ความสำเร็จ มนุษย์อย่างเราๆ ย่อมต้องการความอุ่นใจ ความเชื่อมั่นและไว้ใจ สิ่งเหล่านี้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถให้กับเราได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ยังคงเหนือกว่า

จะเห็นว่าบริการทางการเงินและการลงทุนนั้น เป็นเรื่องของ ข้อมูล เทคโนโลยี อัลกอริทึ่ม ความสามารถในการเลือกใช้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ เช่นข้อมูลเชิงพฤติกรรมของลูกค้า เป็นกุญแจสำคัญของพัฒนาการในกลุ่มนี้ ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็น Personal Financial Management (PFM) ที่เชื่อมโยงการบริการทางการเงินอื่นๆ ตั้งแต่การโอนเงิน การกู้ยืม การออมและลงทุน ประกันชีวิตและสุขภาพ การวิเคราะห์รูปแบบการใช้เงิน เข้าใจถึงวินัยทางการเงิน ไปจนถึงรูปแบบ life style อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า แต่ละคน การใช้ PFM อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นประตูไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละคน ซึงเป็นความหมายของการเป็น primary financial institution อย่างแท้จริง

13.0 I, Robot and I'm Your Financial Adviser 3 13.0  I, Robot and I'm Your Financial Adviser 3 Reviewed by aphidet on 7:49 PM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.