6.0 Smarter Planet, Next-Gen Payment 2

การเปลี่ยนแปลงที่ดูยุ่งยากซับซ้อนทั้งในแง่กฏเกณฑ์และเทคโนโลยี เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่เชื่อมั่นว่า ระบบการชำระเงินและโอนเงินควรดีกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาที่เกิดกับโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงินในโลกเราปัจจุบันนี้ มีที่มาหลักๆ คือ ความจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร และการทำ KYC/IDV* ซึ่งคือการตรวจสอบและระบุตัวต้นที่เข้มข้น เพิ่มขั้นตอนที่ธนาคารคิดว่า"จำเป็น" และผลักความยุ่งยากไปที่ผู้ทำธุรกรรม ทำให้การใช้เงินสดยังคงเป็นที่นิยมในหลายๆประเทศ วิธีการแบบใหม่สำหรับการชำระเงิน จึงจำเป็นต้องลดข้อจำกัดเหล่านั้น 
(note: *KYC มาจาก know your customer และ IDV มาจาก identity verification)

ภาพประกอบจาก internet
เป็นที่คาดกันว่า smart phone จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร ตั้งแต่การเข้าถึงบัญชีธนาคาร ใช้แทนบัตร ATM บัตรเดบิต สมุดเช็ค สมุดบัญชี ซึ่งส่งผลให้การใช้บริการธนาคารในชีวิตประจำวัน ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ลองคิดดูว่า บัตรเดบิตที่เราใช้ ด้วยตัวมันเองไม่สามารถแสดงยอดเงินคงเหลือในบัญชี แต่มือถือของเรากลับสามารถทำได้ คาดกันว่า ภายในปี 2020 บัญชีธนาคารกับโทรศัพท์มือถือ จะเป็นสิ่งที่คู่กันอย่างแยกไม่ออก หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือ โทรศัพท์มือถือจะเข้ามาแทนสมุดบัญชีและบัตร ATM

ภาพประกอบจาก M-Pesa.com
ประเทศเคนย่าทวีปแอฟริกา แผ่นดินที่ผู้คนเข้าถึงระบบธนาคารน้อยกว่าการเข้าถึงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เรื่องง่ายๆ สำหรับพวกเรา อย่างการเปิดบัญชีออมทรัพย์ก็ดูจะไม่เป็นมิตรสำหรับบุคคลธรรมดามากนัก ธุรกิจมือถือเข้ามามีบทบาทสำคัญในบริการโอนเงินระหว่างกัน ด้วยความร่วมมือระหว่าง Vodacom กับผู้ให้บริการมือถือรายหนึ่งในอาฟริกาจึงพัฒนาระบบการโอนเงินและชำระเงินของตนเองขึ้นมา M-Pesa  (M มาจาก mobile ส่วน pesa เป็นภาษาสวาฮิรี หมายถึงเงิน) โดยได้เพิ่มเมนูง่ายๆที่เขียนว่า "Send money" ในมือถือ เพื่อให้ใช้บริการโอนเงินระหว่างผู้ใช้โทรศัพท์ การใช้บริการแทบไม่ต่างไปจากการส่ง SMS ระหว่างกัน เป็นวิธีการที่เรียบง่าย ได้ผลดีและประหยัด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก 

ปัจจุบัน M-Pesa ขยายการให้บริการครอบคลุม การฝาก ถอน กู้ยืม โอนและชำระเงิน ในเคนย่านั้น 64% ของคนในวัยผู้ใหญ่ต่างเคยใช้บริการดังกล่าว จนกล่าวกันว่าการใช้มือถือเพื่อจ่ายแก่เงินคนขับแท็กซี่ในไนโรบีนั้นง่ายกว่าในนิวยอร์คซะอีก ในช่วงต้นนั้น บริการดังกล่าวถูกต่อต้าน ร้องเรียนจากธนาคารต่างๆ จากความกลัวว่าจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้จากการทำธุรกรรม  แต่ในเวลาต่อ มาบริการโอนเงินผ่านระบบโทรศัพท์กลับเป็นการเสริมธุรกิจของธนาคาร ได้ช่องทางการการขายและบริการใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ธนาคาร และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีบัญชีของธนาคารอีกด้วย

การโอนและชำระเงินข้ามสกุลเงินระหว่างประเทศ เป็นธุรกรรมที่ยุ่งยากไม่น้อย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีมาตราฐานในการโอนและชำระเงินของตัวเอง มีหน่วยงานกำกับดูแลในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน การโอนเงินระหว่างประเทศ ในรูปแบบพื้นฐานผ่านระบบธนาคารนั้น เราต้องไปยังสาขาธนาคาร กรอกแบบฟอร์ม เราต้องรู้ swift code หรือ routing number ของธนาคารปลายทาง บอกชื่อธนาคาร สาขา เลขบัญชี แม้แต่ที่อยู่ของธนาคาร และข้อมูลอื่นๆ อย่างไรก็ดี เรามีผู้ให้บริการอย่าง PayPal ที่เข้ามามีบทบาทในการเชื่อมระบบการเคลียร์เงินและชำระเงิน (clearing and settlement) ระหว่างประเทศ ทำให้สามารถโอนเงินได้โดยใช้เพียง email หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ

ทิศทางในการพัฒนาต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ การชำระเงินและโอนเงินจะเป็นแบบ ช่องทางรอบด้าน (omni channel) โดยสามารถทำธุรกรรมได้จาก ทุกช่องทางที่สามารถเชื่อมต่อกับ internet ได้ ไม่ว่าจาก smart phone, tablet, POS หรือ web site ลองจินตนาการถึงอนาคตอันใกล้ วันหนึ่ง ตู้เย็นที่บ้านเราอาจจะสั่งซื้อเบียร์มาเติมให้คุณพ่อบ้าน เมื่อเบียร์ใกล้หมด แล้วชำระเงินโดยแจ้งให้เราอนุมัติการทำรายการก็ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าตู้เย็นจะแอบจิบเบียร์ 

ใจความสำคัญในบทนี้คือ
1. กระบวนการชำระเงินและโอนเงิน ก็สามารถใช้ประโยชน์จากการออกแบบกระบวนการใหม่ๆ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนทั้งในแง่กฏเกณฑ์และระบบ
2. การชำระเงินในอนาคตนั้น มุ่งเน้นไปในแนวทางที่สามารถทำธุรกรรมได้ในทุกที่ ทุกเวลา เพิ่มความสะดวกสบายและลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม 
3. FinTech กับธนาคารสามารถ เติบโตร่วมกัน ธนาคารสามารถใช้ช่องทางที่เกิดใหม่เพื่อขายผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
6.0 Smarter Planet, Next-Gen Payment 2 6.0 Smarter Planet, Next-Gen Payment 2 Reviewed by aphidet on 10:04 PM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.