Beyond the Elephant in the Room


Image credit: forum.media.mit.edu

ช่วงวันที่ 19-20 ธันวาคมที่ผ่านมากรุงเทพของเรา เป็นเจ้าภาพงานเล็กๆ ที่แต่น่าสนใจในสายวิศวกรรมฯ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในงานชื่อแปลกๆว่า "BEYOND THE ELEPHANT IN THE ROOM" โดย คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา จาก MIT Media Lab ร่วมกับ KBTG และธนาคารกรุงเทพ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก เป็น 2 วันที่ผู้คนจาก MIT Media Lab มาเล่าให้พวกเราฟังถึงความทะเยอทะยานและแรงบันดาลใจที่จะเอาเอาชนะ "ช้าง" ซึ่งหมายถึง ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของพวกเราชาวโลก ที่พวกเรามักละเลย หรือคิดว่าเป็นไปไม่ได้


"Innovation always start with people" เป็นคำกล่าวนำของนักวิจัยท่านหนึ่งก่อนเริ่มงาน เนื้อหาแบ่งตามกลุ่มงานวิจัยที่หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์, AI เพื่อการเรียนรู้ สถาปัตยกรรมรักษ์โลก วัสดุอัจฉริยะ ไปจนถึง การสำรวจและตั้งถิ่นฐานในอวกาศ ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นเรื่องหนักๆ ไกลตัว สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องเฉพาะทาง แถมบรรยายโดยเหล่าเนิร์ดจาก MIT ซะอีก ซึ่งหลายคนที่ผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัย หรือสัมนาทางวิชาการซึ่งมีการเชิญนักวิจัยมาบรรยายให้ฟังคงนึกถึงการบรรยายแสนง่วงนอนกับศัพท์เทคนิคมากมายหรือ slide ที่เต็มได้ด้วยข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ใน 2 วันที่ผ่านมา การนำเสนอทำในลักษณะแบบ TED Talk สั้นๆ ประมาณ 15-20 นาที ตัวอย่างสนุกๆของงานวิจัย เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ พูดถึงผลกระทบของงานวิจัยชั้นสูงกับสังคม หรือสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา อธิบายผลการทดลอง การนำไปประยุกต์ นำเสนอตัวเลขโดยทำ visualization ที่สวยงาม ทำให้เราเข้าถึงจับต้องได้ง่าย ตั้งแต่ดนตรีประกอบที่สังเคราะห์จาก DNA ของแบคทีเรียที่เก็บจากรอบๆ campus ของ MIT การร่ายรำกับเสียงดนตรีที่เกิดจากจังหวะเท้าของนักเต้นบน smart fabric เป็นการบรรยายแบบกึ่งวิชาการแนวใหม่ที่สร้างความเพลิดเพลินกับผู้ฟังมากๆ


Innovation always start with people

ธีมของงานแบ่งเป็น กลุ่มงานวิจัยมีชื่อเก๋ๆ เช่น

Cyborg Health เป็นกลุ่มที่ว่าด้วยการพัฒนา nano electronic device หรือ nano-robotics ขนาดเท่าเซลล์ ใช้ฝังลงในร่างกายมนุษย์ทดแทนอุปกรณ์อิเลคโทรนิคขนาดใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อควบคุมอาการบกพร่องทางระบบประสาทอย่าง parkinson หรืออาการบกพร่องทางสมองอื่นๆ เป็นแนวคิดของการอยู่ร่วมกันระหว่างระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรที่เป็นกลายส่วนหนึ่งของร่างกาย (human-machine symbiosis) เรียกได้ว่าทำให้เรากลายเป็น cyborg ในระดับ cell ไป 



X-Verse & Extended Mind เป็นส่วนที่มีเรื่องน่าสนใจมากมาย เน้นแนวคิด hybrid realities ผสานรวมโลกดิจิตอลกับโลกกายภาพของเราเข้าด้วยกัน ใช้ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อการทดแทน  การพัฒนา virtual idol/enfluencer ที่ใช้ร่วมกับ AI เพื่อให้คำแนะนำ ให้ความรู้ เราจะได้เห็น ลีโอนาร์โด ดาวินชี มาสอนเรื่องการออกแบบเครื่องร่อน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจถึงเหตุผลที่มาที่ไปของงานวิจัยเหล่านี้ 
1. การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อผู้เรียนได้เรียนกับ บุคคลเสมือนเหล่านี้ ซึ่งสามารถโต้ตอบถามคำถามระหว่างนักเรียนกับ AI ได้เสมือนคนจริงๆ (แน่ละ ถ้าน้องใบเฟิร์นมาสอนวิชาชีวะฯ ให้เราตอนมอ.ปลาย คงไปเรียนหมอแทนวิศวะแน่ๆ)
2. มนุษย์ให้ความสนใจและเชื่อถือกับบุคคลเสมือน ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักมากกว่า บุคคลเสมือนที่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่กับคนจริงๆ ซะอีก อีกทั้งยังพบว่าคำแนะนำของ AI มีผลต่อการสินใจของมนุษย์อย่างมีนัยยะ
3. ส่วนที่ดูน่ากังวลคือ จากผลสำรวจพบว่า มนุษย์เริ่มให้ความไว้วางใจกับคำแนะนำจาก AI มากกว่ากับมนุษย์ด้วยกันเอง โดยทีมงานได้ทดสอบโดยใช้ AI ที่ให้คำแนะนำด้านสุขภาพเทียบกับคำแนะนำจากคุณหมอ โดยใช้ AI 2 ชุด ซึ่งชุดแรกเป็น AI มีความแม่นยำสูง (high accuracy) และชุดที่สองเป็น AI ที่แม่นยำต่ำ คืออาจให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องมากหน่อย เมื่อสอบถามความคิดจากผู้ร่วมการทดสอบ ก็ปรากฏว่า มนุษย์ยังให้น้ำหนักความเชื่อถือกับคำแนะนำของ AI ที่แม่นยำต่ำมากกว่าคำแนะนำจากคุณหมอที่เป็นมนุษย์เสียอีก จะเกิดอะไรขึ้นหากมี evil AI ให้คำแนะนำที่ผิดๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกับผู้ป่วยในอนาคต หรือแม้แต่คำแนะนำด้านอื่นๆ ที่มีผลกับชีวิตของผู้คน ไม่ต่างจากการขับรถตาม GPS จนไปตกน้ำตกท่าเลย พวกเราในสายงานด้านข้อมูลคงต้องตระหนักเรื่องความถูกต้อง และจรรยาบรรณการใช้ AI ซึ่งส่งผลต่อสังคมให้มากขึ้นในอนาคต

นักวิจัยใช้คุณอีลอน เป็น Virtual Idol ซึ่งมีคำพูดติดตลกว่า ถ้ามาถามตอนนี้ อาจจะมีคนไม่ชอบเยอะขึ้นก็ได้



เบื้องหลังการสอนหนังสือของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี


ผลการศึกษาเรื่องคำแนะนำของ AI ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์


ผลสำรวจความคิดเห็นต่อคำแนะนำที่ได้จาก AI ทั้ง 2 ชุด เทียบกับคุณหมอที่เป็นคนจริงๆ

Defying Gravity เป็นส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ ไม่ว่าจะ robot ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง การออกแบบและพัฒนาชุดนักบินอวกาศที่เป็นเหมือนผิวหนังชั้นที่ 2 ของมนุษย์ซึ่งสามารถปรับตามลักษณะรูปร่างของแต่ละคนเพิ่อความคล่องตัว ปกป้องมนุษย์จากสภาวะอันโหดร้ายรุนแรงของอวกาศ และการใช้ชีวิตในดวงดาวอันไกลโพ้น ซึ่งชุดแบบใหม่นี้ ใกล้เคียงชุด Super Hero เข้าไปทุกทีละ และยังมีกล่าวถึงโครงการ Artemis ที่จะส่งคนกลับไปสร้างสถานีบนดวงจันทร์ (คงไม่มี Twitter ของอีลอนให้เล่นละ) อันนี้ตลกดีมีคลิปของมนุษย์อวกาศยุคอพอลโลในชุดหนาเตอะ ที่เดินหัวขมำ งุ่มงามตลกๆ บนดวงจันทร์ ซึ่งเราคงไม่ได้เห็นคลิปหลุดแบบนี้จาก NASA แน่ๆ 


ชุด Super Hero สำหรับทำงานบนดวงจันทร์

E-Topia เนื่องมาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศในรอบกว่าร้อยปี จึงเกิดความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยแนวคิด Sustaining Cities with Smart Technologies โดยใช้การออกแบบเมือง ที่พักอาศัย และระบบขนส่ง ที่ลด carbon footprint ให้ได้มากที่สุด ส่วนนี้เป็นส่วนที่ใกล้ตัวพวกเรามากที่สุด 

Material Alchemist เป็นกลุ่มที่เข้าใจยากสุดละ เป็นแนวคิดของการใช้วัสดุและพื้นผิวต่างๆ เป็น user interface ที่เรียกว่า Tangible User Interface มีตัวอย่างหนึ่งเหมือนเทคโนโลยีของชาวคริปต้นในหนัง Man of Steel เลย ในภาพยนต์ที่แท่งโลหะเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นสิ่งของต่างๆ ในการ interface กับมนุษย์ ตัวอย่างจากงานวิจัย นักวิจัยสามารถควบคุมลูกบอลจากระยะใกล้โดยใช้วัสดุที่เปลี่ยนรูปร่างได้นี้ เป็นรูปแบบใหม่ของการปฎิสัมพันธ์กับสิ่งของรอบๆ ตัวเรา (human-material interactions) โดยไม่ต้องใช้ GUI แบบเดิมๆ ล้ำมากๆ

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของ Internet of Values, Digital Currency, Web3, and Trustworthy Networks กับแนวคิด social media ที่เราเป็นผู้ควบคุม algorithm ในการเลือก content และรูปแบบการนำเสนอ content เราเพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันละกันในโลกดิจิตอล

แน่นอนว่าภายใต้การนำเสนองานวิจัยที่น่าตื่นเต้นสนุกสนานเหล่านั้น เต็มไปด้วยข้อมูลทางวิชาการที่อัดแน่น ที่นักวิจัยแต่ละท่านพกมาด้วย ไม่ว่าจะเรื่อง เอ่ออ... การประยุกต์ใช้หลักการ wave particle duality ใน quantum mechanics เพื่อลดการใช้พลังงานและความร้อนของอุปกรณ์ nano electronic device เนื่องจากมันต้องถูกฝังลงในร่างการของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานต่ำและสร้างความร้อนน้อยมากๆ ส่วนแนวคิดที่ให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นโดยกระบวนการทางเคมีนั้น นักวิจัยก็ยังอธิบายผลศึกษาให้พวกเราฟังอีกด้วย...ยากจัง แต่สรุปง่ายๆคือ พลังงานไฟฟ้าในระดับเซลล์ที่เราผลิตได้นั้น ยังต่ำเกินไปสำหรับ nano device เหล่านี้ แต่ฟังๆแล้ว ใกล้เคียงกับภาพยนต์เรื่อง The Matrix เข้าไปทุกทีละ

นอกเหนือจากผลงานด้านวิชาการที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจคือ เราได้เห็นคนหลายรุ่น จากหลากหลายวัฒนธรรมที่มี Passion ร่วมกัน มาร่วมมือกันทำงาน สรรค์สร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจเพื่อสร้างผลงานวิจัยชั้นยอด ทั้งหมดนี้เพื่อ "Create the new world we want to live in"





Beyond the Elephant in the Room  Beyond the Elephant in the Room Reviewed by aphidet on 10:13 PM Rating: 5

No comments:

Powered by Blogger.